มันไม่ง่ายเลยสำหรับหลายๆคนที่จะช่วยโลกด้วยการซื้อเสื้อผ้าน้อยลง แฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามหรือความชอบส่วนตัว แต่ยังมีคุณค่า (value) บางอย่างที่สังคมรวมทั้งคนที่สวมใส่ยึดติดกับมัน
บางสังคมต้องใช้ของหรูถึงจะเป็นเพื่อนกันได้ งานหลายๆงานต้องแต่งตัวให้ดูดี หรือบางคนแสดงความเป็นตัวของตัวเองด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่
และเมื่อโลกแฟชั่นถูกขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดที่ให้คนเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยยิ่งขึ้นเพื่อกำไรสูงสุด อายุการใช้งานของเสื้อผ้าจึงสั้นลง ใส่ไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง อุตสาหกรรมนี้จึงสร้างคาร์บอนและขยะอันดับต้นๆของโลก
แต่ละปีมีการปลูกคอตตอนถึง 22.7 ล้านเมตตริกตันซึ่งใช้ทรัพยากรมหาศาล โดยเฉลี่ยเราใช้น้ำถึง 2,700 ลิตรในการผลิตเสื้อยืดตัวหนึ่ง และคอตตอนเป็นพืชที่ใช้ยาฆ่าแมลงในการปลูกมากที่สุดในโลก ทำลายสุขภาพของเกษตรกรผู้ปลูกและระบบนิเวศ และยังมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก
หรือจะหันไปใช้ polyester ก็มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ
สตาร์ทอัพหลายๆบริษัทจึงคิดสิ่งทึ่จะมาทดแทนคอตตอนรวมทั้งหนังซึ่งพวกเราน่าจะมีโอกาสใส่กันภายใน 3-5 ปีข้างหน้า
1; ไฟเบอร์คาร์บอนไดออกไซด์
Rubi Laboratories กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ผลิตเส้นด้ายจากคาร์บอนไดออกไซด์ โดยผสมคาร์บอนไดออกไซด์กับเอนไซม์ที่ผลิตในห้องแลปของบริษัท ทำให้เกิดไฟเบอร์ที่สามารถเอามาทอเป็นเส้นใยผ้า ขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง จึงสร้างภาระให้กับโลกน้อยกว่าการปลูกคอตตอนหรือการผลิตโพลีเอสเตอร์อย่างมาก ปัจจุบัน Rubi เป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจกับ Walmart, Patagonia, Ganni and Reformation ซึ่งกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และคาดว่าจะวางจัดจำหน่ายในปีหน้า
2: ผ้าไหมหมัก
Spiber ค้นพบการหมักไฟเบอร์ที่มีคุณสมบัติเรียบเนียน เงางามคล้ายผ้าไหมและนุ่มเหมือนผ้าแคชเมียร์ เหมาะสำหรับทำเป็น เสื้อกันหนาว ชุดเดรส และสูท
3: สิ่งทอจากเปลือกสัตว์ทะเล
TômTex ผลิตสิ่งที่ใช้ทดแทน หนังโดยผลิตจากขยะเปลือกกุ้ง หอย ปู โดยบริษัทรับซื้อขยะเปลือกกุ้งจากเวียดนาม เปลือกปูจากอลาสก้า ยุโรปและเอเชียเพื่อเอามาสกัดเป็นไคโตซาน จากนั้นเติมสารแต่งแล้วทำให้แห้งก็จะได้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นและทนทาน สามารถนำมาผลิตเป็นกระเป๋า รองเท้าและโซฟา
4: หนังปลาสิงโต
ปลาสิงโตเพิ่มจำนวนจนน่าตกใจในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นภัยคุกคามกับปะการัง startup ที่ชื่อ Inversa จึงวิจัยหนังจากปลาสิงโตซึ่งบาง ทดทาน และยืดหยุ่นเป็นอย่างดี เหมาะกับนำมาใช้กับสินค้าแฟชั่นที่มีขนาดเล็ก
5: หนังเพาะในหลอดทดลอง
VitroLabs เพาะหนังโดยใช้เซลผิวหนังที่ได้จากชิ้นเนื้อของลูกวัว เหมาะกับการใช้ทำเครื่องหนังและอุปกรณ์ภายในรถ Startup รายนี้ได้ร่วมงานกับ บริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ Kering ที่เป็นเจ้าของ Gucci และ Balenciaga
SDGs Goal : Climate Action, Responsible consumption and production, Clean water and sanitation, Life on Land
writer : ยอด Co-Founder, Goodwill Compounding
source : Financial Time, Wall Street Journal, The Economist
photo credit :
facebook.com/vitrolabs
fashionunited.com
verycompostable.com