“ซ่อมเถอะหลาน” สิ่งที่ตายายคู่หนึ่งบอกกับ Apple

มีคนเคยถามตายายคู่หนึ่งว่า “ทำยังไงถึงรักกันได้มาตั้ง 65 ปี”

 

คุณยายตอบว่า “เราเกิดในยุคที่อะไรพังเราก็ซ่อม ไม่โยนทิ้งแล้วซื้อใหม่”

 

หัวใจของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คือทำให้ “การบริโภค” เป็นวิถีในการดำเนินชีวิตของคน โดยมี 3 วิธีหลัก

 

1. ทำให้สิ่งของ “ล้าสมัย” ให้เร็วที่สุดอย่างแฟชั่น ปรับเปลี่ยนดีไซน์เพื่อบีบให้เราทิ้งของที่มีอยู่ทุก 6 เดือน

 

2. ทำให้คนรู้สึกผิด ไม่มั่นใจ รู้สึกด้อยกว่า หากใช้ของที่ถูกกว่าคนรอบข้าง เช่นพวกแบรนด์หรู

 

3. ทำให้สิ่งของ “เสื่อมสภาพ” ให้เร็วที่สุดและไม่คุ้มที่จะซ่อม  คนจะได้ซื้อใหม่เช่น “Fast Furniture” อย่าง ikea ที่ใช้งานได้ไม่นานก็พัง หรือ iPhone และ Mac อะไรเสียนิดหน่อยค่าซ่อมก็แพงมาก ซื้อใหม่ดูจะคุ้มกว่า

 

และนั่นทำให้เราสร้างขยะจำนวนมหาศาล เพราะของที่ยังใช้ได้ก็ถูกกลไกระบบทุนนิยมทำให้มันใช้การไม่ได้

 

ในแต่ละปีทั่วโลกสร้าง e-waste (หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์) กว่า 50 ล้านเมตริกตันและคาดการณ์ว่าจะถึง 74 ล้านเมตริกตันภายในปี 2030 e-waste จึงเป็นขยะที่เติบโตเร็วที่สุด เพราะคนซื้อมากขึ้น เทคโนโลยีพัฒนาเร็วขึ้น อายุการใช้งานน้อยลง และไม่คุ้มที่จะซ่อม และมีการรีไซเคิลเพียงแค่ 17% เท่านั้น ที่เหลือกลายเป็นขยะที่มีสารพิษเช่น ปรอท สารหนู  สารหน่วงไฟ ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะ “ทิ้ง” e-waste ไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างแอฟริกา ประเทศไทยเองก็เคยเป็นถังขยะ e-waste ให้กับชาติตะวันตกและญี่ปุ่น

 

Apple เป็นแบรนด์หนึ่งที่ถูกโจมตีว่าเป็นตัวการะดับโลกที่สร้าง e-waste เพราะราคาค่าซ่อมแพงมาก จนซื้อใหม่คุ้มกว่า จึงมีคนรวมกลุ่มกันในอเมริกาและยุโรปเพื่อรับซ่อมสินค้าของ Apple โดยคนกลุ่มนี้จะแกะ iPhone Mac และ iPad ออกมาดูว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้าง แล้วจะหาอุปกรณ์ใกล้เคียงหรือจากสินค้ามือสองมาเป็นอะไหล่ในการซ่อมแซม

 

ลูกค้าก็ win ได้ซ่อม Apple ราคาไม่แพง โลกก็ win เพราะลด e-waste

 

Apple เห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทบกับยอดขาย จึงทำการฟ้องร้องคนกลุ่มนี้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาควบคู่กับการทำแคมเปญ pr ว่าซ่อมกับ Apple ปลอดภัยเรื่อง data privacy และจะไม่รับประกันสินค้ารวมทั้งไม่ให้บริการสินค้าที่ซ่อมกับ 3rd party

 

โดนกดดันมากๆเข้า คนกลุ่มนี้เลยรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่ม “Right to Repair” เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคในการซ่อมสินค้าของ Apple โดยรวบรวมลูกค้าของ Apple ที่มีปัญหาเรื่องซ่อม และยื่นฟ้อง Apple กลับ และเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐออกกฎหมาย “Right to Repair”

 

การต่อสู้ผ่านไปหลายปีในที่สุด Apple ประกาศสนับสนุนกฏหมาย Right to Repair Act ของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยผู้ผลิตสินค้าจะต้องให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมและจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมให้กับช่างซ่อมอิสระและลูกค้าเช่นเดียวกับศูนย์ซ่อมบริการอย่างเป็นทางการ นอกจากรัฐแคลิฟอร์เนียแล้วยังมีอีก 14 รัฐในอเมริการวมทั้ง EU ที่ผลักดันกฏหมายลักษณะนี้

 

เคยมีคนถาม Charlie Munger วัย 99 ปี มือขวาของ Warren Buffet ว่า “อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืน”

 

เขาตอบว่า “The first rule of a happy married life is low expectations”

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราทะเลาะกันเป็นเพราะเราคาดหวังให้เขาเป็นอย่างที่เราเป็นหรือทำตามที่เราบอกใช่มั้ยครับ

 

internet และ social network ทำให้เรามีความอดทนน้อยลง หมกมุ่นกับโลกของตัวเองมากขึ้น เราคาดหวังให้คนที่เรารักเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่ในความเป็นจริงเขาก็คือเขา มีชีวิต ความฝัน ความต้องการ ความสุข ความทุกข์ และความคิดเป็นของเขาเอง บางทีการที่เราคาดหวังให้เขาเป็นแบบที่เราต้องการอาจไม่ใช่ “การให้ความรัก” แต่เป็นการ “ทำร้ายเขา”

 

หากเราคิดว่าความรักจะมีแต่ด้านสุขอย่างเดียว และทิ้งมันเมื่อเจอปัญหา เราก็ไม่มีวันรู้จักคุณค่าของความรัก เพราะปัญหาคือส่วนหนึ่งของความรักและเป็นบททดสอบชั้นดีว่าความรักของเราจริงพอจะผ่านมันไปได้หรือเปล่า

 

““If you love a flower, don’t pick it up. Because if you pick it up it dies and it ceases to be what you love. So if you love a flower, let it be. Love is not about possession. Love is about appreciation.” Osho ว่าไว้

 

SDGs Goal : Climate Action, Responsible consumption and production 

writer : ยอด Co-Founder, Goodwill Compounding

source :new york times, wall street journal, cnn, techcrunch, ifixit, statista, United Nation

Photo credit: apple.com

Scroll to Top