เคยมีนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ไว้ว่า เมื่ออุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ประเทศที่อยู่ในแถบหนาว จะต้องหันมาเพาะปลูกพืชที่อยู่ในประเทศแถบร้อน ส่วนประเทศที่อยู่ในแถบร้อนอย่างประเทศไทยจะเพาะปลูกอะไรไม่ได้
คำถามคือ มันจะเป็นจริงไหม และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
คำตอบคือ มันเริ่มจะเป็นจริงแล้ว และได้เกิดขึ้นแล้วในปีที่อุณหภูมิโลกร้อนทำสถิติใหม่
เริ่มจากอิตาลีปลูกมะม่วง !!!
สภาพอากาศในเมดิเตอร์เรเนียนเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในโลก อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสนับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับปีนี้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ภัยแล้งและคลื่นความร้อนได้ “disrupt” การผลิตอาหารในแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะภัยแล้งยาวนานและสภาพอากาศที่ร้อนจนสร้างสถิติใหม่สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับสวนมะกอกในสเปนไปจนถึงทุ่งข้าวสาลีในแอลจีเรีย ผลผลิตทางการเกษตรตกตำ่หนักจนเกษตรกรต้องหันไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ทนกับสภาพอากาศร้อนได้มากขึ้น
และนี่เป็นประเทศตัวอย่างที่ต้อง “rethink” การเกษตรกันใหม่
อิตาลี : ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอิตาลีมีการเพาะปลูกผลไม้เขตร้อนอย่างมะม่วง กล้วย อโวคาโดเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ส่วนปีนี้โคนมผลิตน้ำนมน้อยลงไปมาก รวมทั้งผลผลิตของน้ำผึ้งลดลงกว่า 70% เพราะผึ้งไม่ออกอาหารเหมือนเคย พื้นที่เพาะปลูกข้าวทางตอนเหนือของอิตาลีแล้งจนขาวนาต้องเปลี่ยนไปปลูกถั่วเหลืองแทนเพราะใช้น้ำน้อยกว่า
สเปน : น้ำทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ไหลเข้าสู่บริเวณ Ebro Delta ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวกว่า 20,000 เฮกตาร์ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ผนวกกับภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนานก็ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำ Ebro River ไม่มากพอที่จะชะล้างเกลือออกจากพื้นที่ บางพื้นที่เสียหายจนไม่สามารถปลูกข้าวได้อีกแล้ว ผลผลิตเหลือแค่ 30% ของปีที่แล้วจนชาวนาต้องเริ่มหันมาเพาะสาหร่ายและเลี้ยงหอยลายแทน
แอลจีเรียและโมรอคโค : ภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องทำให้ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ รวมทั้งพืชอื่นๆที่เป็นอาหารหลักแห้งตายก่อนถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยว
ฝรั่งเศส : ไร่องุ่นในแคว้น Languedoc ทางตอนใต้ของประเทศต้องเผชิญกับภัยแล้งยาวนานหลายเดือนผสานกับคลื่นความร้อน เมื่อฝนไม่ตกเป็นเวลานานองุ่นก็เล็กและเหี่ยว ส่วนความร้อนก็ทำให้ไวน์มีปริมาณแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นและสูญเสียรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์
รายงานของ United Nations Intergovernmental Panel on Climate Change ระบุว่าผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่มีต่อประเทศที่มีดินแดนติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
และประเทศต่างๆเขาไม่เฉยแล้วนะครับ
เหล่านักวิทยาศาสตร์ Institute of Agrifood Research and Technology (IRTA) ของสเปน กำลังหาวิธีช่วยเกษตรกรให้ปรับตัวกับโลกร้อนด้วยการศึกษาพันธุ์ปลา สาหร่ายทะเล หอยลายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งพัฒนาพันธุ์แอปเปิ้ลที่จะมาเลี้ยงหรือเพาะปลูกแทนข้าวในพื้นที่ Ebro Delta
ส่วนนักวิจัยในอิสราเอลได้พัฒนาพันธุ์มะเขือเทศที่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง
ในขณะที่ “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นยุทธศาสตร์สำคัญลำดับต้นๆของประเทศจีน และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) รวมทั้งการเพาะเนื้อเยื่อสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารในหลอดแก้ว
เอาแค่ความร้อนระดับปีนี้ยังทำให้ผลผลิตอาหารตกต่ำได้ขนาดนี้ แล้วถ้าถึงวันที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 2 องศาที่ทำให้ประการังที่เป็นเหมือนบ้านของสัตว์ทะเลนานๆชนิดถูกทำลายอย่างต่ำ 90% เราจะเป็นยังไง
แล้วเราควรที่จะช่วยกันแก้ปัญหาโลกร้อน หรือฝึกปรับตัวรับมือวันที่เรามีเงินแต่ไม่มีอาหารให้ซื้อดีครับ
Sustainable Development Goals (SDGs) : Climate Action, Zero Hunger
Writer : ยอด Co-Founder and Director of Change, Goodwill Compounding
Source : Wall Street Journal
South China Morning Post
Photo Credit EU Science Hub